รายการศิลปวัฒนธรรม
ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์บ้านควนแตน ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
|
|
ลิงค์วิดีทัศน์ :
วิดีทัศน์
|
ศึกษาวัฒนธรรมประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์บ้านควนแตน ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์บ้านควนแตน ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้รู้ ผู้อาวุโสและคนวัยทำงาน บ้านควนแตน ตั้งถิ่นฐานใกล้แม่น้ำ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และทำนา ทำสวน ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะการทำประมงพื้นบ้านต้องประสบกับภัยธรรมชาติ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน บางครั้งการทำนาต้องประสบกับภัยจากลมพายุ สร้างความเสียหายให้พืชผล การเกษตร ผลการวิจัยพบว่า ประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ของคนในบ้านควนแตน เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อทางวัฒนธรรมเป็นการส่งผ่านอุดมการณ์ทางสังคมของคนในชุมชนทั้งเพื่อสร้างความสามัคคีและดำรงไว้ซึ่งสายสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่นผ่านกิจกรรมการจัดงานประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ เพราะด้วยเหตุนี้ จึงจัดงานประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ขึ้นเป็นประจำทุกปี ให้พระแม่คงคาเทพีแห่งน้ำ ดลบันดาลให้พืชผล การเกษตร เกิดความอุดมสมบูรณ์ได้ จะคอยปกป้องคุ้มครองชาวบ้านควนแตนให้มีความอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ โดยทำแพเล็กๆ แล้วใส่เสบียงอาหารสด อาหารแห้ง ตัดเล็บ ตัดผมใส่ในแพ ลอยไปในแม่น้ำแห่งนี้ เพื่อตอบแทนบุญคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพบูชา นับถือ และถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ด้วย
ประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ เป็นพิธีกรรมความเชื่อของชาวบ้านควนแตน ตำบลท่าเรือ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี โดยมีความเชื่อว่า พระแม่คงคาเทพีแห่งน้ำ สามารถช่วยเหลือให้พ้นทุกข์จากสิ่งไม่ดีต่างๆ เป็นการส่งเคราะห์ร้าย ลงสู่แม่น้ำลำคลอง จากตำนานเล่าต่อกันมาว่าเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้พระคุณ คือบรรพบุรุษ ตลอดจนชาวบ้านบริเวณริมแม่น้ำ ซึ่งพวกเขาได้อยู่อาศัยทำมาหากิน ทั้งบนดินและในน้ำ ซึ่งบางคนเรียกว่า “ส่งเภา” หรือ “ส่งแพ”เป็นการส่งสิ่งไม่ดี เหล่านั้นให้พ้นไปจากหมู่บ้าน และยังเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการส่งเสบียงอาหารให้ จะได้คุ้มครอง ดูแลชาวบ้านพ้นภัยจากอันตรายต่างๆ โดยการตัดเล็บ ตัดผม ลอยไปกับแพ ประกอบกับวิถีชีวิตของชาวบ้านควนแตน มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับสายน้ำในลำคลองควนแตน เป็นอย่างมาก เช่น ในสมัยโบราณนั้น จะนำน้ำจากในลำคลองควนแตน มาใช้ในการอุปโภค บริโภค นอกจากนั้น การประกอบอาชีพทำนา การประมงเป็นอาชีพหลัก ก็ยังต้องใช้น้ำ ในลำคลองแห่งนี้ในการประกอบอาชีพ
การดำรงชีวิตในสมัยก่อนนั้น มีการทำลายทรัพยากรแหล่งน้ำ เช่น การทิ้งสิ่งปฏิกูล ขยะลงในแม่น้ำ และลำคลอง จากการกระทำดังกล่าว จึงได้มีแนวคิดที่จะทดแทนคุณ และขอขมาแม่น้ำลำคลอง โดยจัดให้มีพิธีลอยแพสะเดาะเคราะห์ขึ้น โดยทำกันในช่วงวันเสาร์ที่สองของเดือนหก จัดกันที่แม่น้ำควนแตน ติดต่อกันมาจนเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาร้อยกว่าปี
การจัดประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์นั้น ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่พอประมาณจากคำบอกเล่าของผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม เกิดขึ้นประมาณ ร้อยกว่าปีแล้ว ซึ่งในยุคแรกนั้นกระทำโดยต่างคนต่างทำคล้ายๆ กับการลอยกระทง ต่อมามีการรวมตัวกันทำเป็นแพ แล้วทุกคนก็นำสิ่งของมาใส่ในแพรวมกันแล้วทำพิธีลอยแพ ส่วนในการทำแพในปัจจุบัน มีการทำแพจากวัสดุต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น ประดับตกแต่งให้มีความสวยงามแปลกตาและมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น |
ดาวน์โหลดเอกสาร : pdf
|
ที่มา : ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา |
|
|
รายการศิลปวัฒนธรรม
|